เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2564 เวลา 8.30 น. ถึง 16.00 น. ที่ผ่านมา ตัวแทนนักศึกษาสายวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และนักศึกษาคณะพยาบาลศาสตร์ วิทยาลัยบัณฑิตเอเชีย Cluster 11 พร้อมด้วยคณาจารย์สายวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ร่วมกันลงพื้นที่ฝึกภาคสนามร่วม ที่ศาลาประชาคมหมู่ที่ 1 ตำบลโคกสำราญ อำเภอบ้านแฮด จังหวัดขอนแก่น
โดยใน Cluster 11 ประกอบด้วย 2 โครงการ โครงการที่ 1 ทำการลงพื้นที่ โดยมีการจัดกิจกรรมสันทนาการและให้ความรู้เรื่องโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง ภายใต้ชื่อโครงการ “เข้าใจโรคเข้าใจเรา เบาหวานความดัน ควบคุมได้” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงแก่คนในชุมชน รวมถึงการประเมินความเสี่ยงการเป็นโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงของคนในชุมชน และสร้างความตระหนักให้คนในชุมชนรับรู้ความเสี่ยงโรคเบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูง และสามารถนำมาปรับใช้ในการดูแลสุขภาพของตนเอง และคนในครอบครัวภายใต้บริบทของชุมชนได้ ส่วนโครงการที่ 2 มีการจัดทำ Line official “วัคซีนปลอดภัย ห่างไกลโควิด” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้คนในชุมชนมีความรู้ และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับวัคซีนโควิด และสามารถใช้วิจารณญาณในการตัดสินใจที่จะรับหรือไม่รับวัคซีนได้อย่างเหมาะสม
โครงการที่ 1 ได้เริ่มลงพื้นที่จัดกิจกรรมในเวลา 9.00 น. ถึง 11.00 น. โดยมีจุดให้ชาวบ้านลงทะเบียน หลังจากนั้นจึงจัดกิจกรรมสันทนาการเพื่อให้นักศึกษาและชาวบ้านได้ทำความรู้จักกันมากขึ้น ก่อนที่จะทำการให้ความรู้เรื่องโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูง พร้อมกับการถามคำถาม ซึ่งถ้าชาวบ้านตอบถูกจะมีของรางวัลเล็กๆน้อยๆให้เพื่อสร้างแรงจูงใจ หลังจากนั้นถือเป็นกิจกรรมสุดพิเศษ โดยจะมีการจับฉลากลุ้นรางวัลสำหรับผู้ที่มาเข้าร่วมงาน เรียกได้ว่านอกจากจะได้ความรู้แล้ว ยังได้รับของรางวัลกลับบ้านกันไปอีกด้วย
นศพ.ธนภพ สุขจันทร์ (ดินทราย) นักศึกษาคณะแพทยศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 เป็นประธาน Cluster 11 กล่าวว่า “มีความสุข ยินดี และสนุกกับการต้อนรับจากชาวบ้าน และ อสม. ที่เข้ามาช่วยในการจัดกิจกรรมครั้งนี้ การลงพื้นที่ครั้งนี้ถึงจะเป็นการลงพื้นที่ครั้งแรกและครั้งเดียวตั้งแต่เริ่มโครงการ และยังเป็นการลงไปจัดกิจกรรมโครงการในทันที แต่ชาวบ้านที่มาร่วมโครงการก็ยังให้ความร่วมมืออย่างดี มีเสียงหัวเราะ เสียงไชโยให้ได้ยินทุกสิบนาที และพร้อมช่วยเหลือให้งานสำเร็จไปได้ด้วยดี นอกจากนี้ผมยังรู้สึกยินดีที่โครงการที่ได้เตรียมไว้เป็นเวลานานนั้นสำเร็จไปได้ด้วยดี และหวังว่าจะช่วยกลุ่มเป้าหมายได้ดี ทำให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นเมื่อรู้ถึงโรคที่ได้ให้ความรู้ไป สุดท้ายนี้ผมรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้ทำงานกับเพื่อนๆ เขต 11 ทุกคน เป็นเกียรติที่ได้มีอาจารย์ที่ปรึกษาที่พร้อมให้ความช่วยเหลือ และเป็นเกียรติที่ได้ไปรู้จักชุมนุมต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมาผมรู้จักผ่านแค่ตัวหนังสือ คำเล่ากล่าวและรูปภาพ และจะเป็นเกียรติมากหากได้มาช่วยเหลือชุมชนนี้อีก”
นศพ.บุรี ศรีตระกูล (ใบใบ) นักศึกษาคณะแพทยศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 เป็นประธานโครงการ 1 กล่าวว่า “โดยส่วนตัวไม่ได้มีโอกาสลงพื้นที่ เนื่องจากข้อจำกัดของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค Covid-19 แต่ก็รู้สึกดีที่เห็นชาวบ้านให้ความสนใจ และตั้งใจร่วมกิจกรรมดูแลสุขภาพในครั้งนี้”
นทพ.นีติชยา ประทุมทิพย์ (น้ำอุ่น) นักศึกษาคณะทันตแพทยศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 ที่ได้ร่วมลงพื้นที่ กล่าวว่า “รู้สึกสนุกแล้วก็เป็นการเปิดประสบการณ์ใหม่ เพราะว่าไม่ค่อยได้มีโอกาสลงพื้นที่ พอได้ลงพื้นที่เลยได้รู้ว่าชาวบ้านมีชีวิตความเป็นอยู่ยังไง ได้รู้ว่าชาวบ้านมีความคิดและความรู้ในการดูแลสุขภาพยังไงบ้าง ทำให้พอถึงเวลาทำงานเป็นทันตแพทย์ในชุมชนจริงๆ จะได้วางแผนดูแลรักษาได้อย่างเหมาะสม”
โครงการที่ 2 ได้ทำการให้ความรู้โดยการส่งคลิปวีดีโอความรู้เกี่ยวกับวัคซีนให้ชาวบ้าน ผ่านช่องทาง Line official โดยเริ่มจากส่ง pretest ตามด้วยวีดีโอให้ความรู้ postest และแบบประเมินความพึงพอใจ โดยมีระยะเวลาการดำเนินโครงการตั้งแต่วันที่ 29 พฤศจิกายน 2564 ถึงวันที่ 4 ธันวาคม 2564 ซึ่งคลิปวีดีโอประกอบไปด้วยหัวข้อที่น่าสนใจ ดังนี้ 1. วัคซีนคืออะไร 2. วัคซีนซิโนแวคและซิโนฟาม 3. วัคซีน Viral vector 4. วัคซีน mRNA 5. ข้อควรปฏิบัติสำหรับการฉีดวัคซีนโควิด-19 6. อาการไม่พึงประสงค์ของวัคซีนต่างๆ 7. ถาม-ตอบปัญหาวัคซีน
นศพ.รุจนพ พิทักษ์ (ตั้ง) นักศึกษาคณะแพทยศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 เป็นประธานโครงการ 2 กล่าวว่า “ได้ประสบการณ์ที่แปลกใหม่ในการลองทำโครงการออนไลน์และการใช้แอพลิเคชัน Line official ถึงแม้ว่าจะได้ผู้เข้าร่วมไม่ครบตามวัตถุประสงค์ เนื่องจากไม่ได้ทำการลงพื้นที่สำรวจความพร้อมด้านอุปกรณ์ของคนในชุมชน แต่ผลการดำเนินงานโดยรวมเป็นไปได้ด้วยดี คนในชุมชนให้ความสนใจ ขอขอบพระคุณ คุณหนูรัตน์ กิจเธาว์ (หัวหน้า อสม.)คุณประดิษฐิ์ เจือมา (ผู้ใหญ่บ้าน) คุณอำนวยพร กิจเธาว์ (หัวหน้า รพสต.) ผู้อำนวยการและคุณครูประจำชั้นและเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ โรงเรียนบ้านโคกสำราญ ที่ช่วยประชาสัมพันธ์โครงการมาโดยตลอด และขอขอบพระคุณทุกท่านที่ได้เข้าร่วมโครงการ ทางเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกท่านจะมีความรู้ความเข้าใจเรื่องวัคซีนโควิดมากยิ่งขึ้น”
การฝึกปฏิบัติงานภาคสนามร่วม ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 39 นี้ เพื่อให้นักศึกษาได้ทำงานร่วมกัน นอกจากนี้ยังสามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนในภูมิภาคเพื่อการแก้ไขปัญหาต่างๆในชุมชน แต่เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ในปัจจุบัน จึงทำให้มีการปรับรูปแบบโครงการให้มีความหลากหลายตามสถานการณ์ โดยพวกเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่ากิจกรรมที่จัดทำขึ้นโดย Cluster 11 ในทั้ง 2 โครงการ จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาและแก้ไขปัญหาของชาวบ้านในชุมชนโคกสำราญได้ไม่มากก็น้อย