ประวัติการฝึกภาคสนามร่วม

เริ่มต้นการฝึกภาคสนาม มหาวิทยาลัยขอนแก่นนั้น จัดขึ้นโดยคณะแพทยศาสตร์เป็นคณะแรก ต่อมาในปีพ.ศ. 2526 คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ในขณะนั้นได้หารือกับคณะแพทยศาสตร์เพื่อจะนำนักศึกษาคณะสาธารณสุขศาสตร์เข้าร่วมฝึกกับนักศึกษาคณะแพทยศาสตร์จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นของการฝึกภาคสนามร่วม มหาวิทยาลัยขอนแก่น ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ซึ่งในขณะนั้นมีนักศึกษาคณะแพทยศาสตร์ประมาณ 100 คน และคณะสาธารณสุขศาสตร์จำนวนประมาณ 30 คนเข้าร่วมในโครงการ ซึ่งจัดขึ้นที่บ้านเสียว อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ เจตนารมณ์ของการฝึกภาคสนามร่วมตั้งแต่ระยะเริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน คือ ให้นักศึกษาต่างสาขาวิชาชีพได้ฝึกฝนการทำงานร่วมกัน การใช้ความรู้และทักษะที่มีในการศึกษาปัญหาสุขภาพ ตลอดจนสามารถใช้เครื่องมือต่างๆเพื่อศึกษาปัญหาสุขภาพของชุมชนที่นักศึกษาลงไปปฏิบัติงานในพื้นที่เหล่านั้น ตลอดจนนักศึกษาได้เรียนรู้สภาพและวิถีชุมชนที่เข้าไปศึกษา รวมทั้งการจัดโครงการบริการที่เหมาะสมและสอดคล้องกับบริบทของชุมชนและศักยภาพของนักศึกษาในระยะเริ่มต้นการฝึกภาคสนามร่วมนั้นเนื่องจากจำนวนนักศึกษาที่เข้าร่วมยังมีจำนวนไม่มาก จึงใช้การฝึกภาคสนามในพื้นที่เดียวกัน ต่อมาในปี พ.ศ. 2528 คณะทันตแพทยศาสตร์ได้เข้าร่วมการฝึกภาคสนามเพิ่มเติม จากนั้นคณะเภสัชศาสตร์และคณะเทคนิคการแพทย์ซึ่งนักศึกษาได้ลงเรียนรายวิชาของภาคเวชศาสตร์ชุมชนก็เข้าร่วมปฏิบัติงานในโครงการการฝึกภาคสนามร่วม ต่อมาในปี พ.ศ. 2530 คณะพยาบาลศาสตร์ ได้จัดให้นักศึกษาเข้าร่วมการฝึกภาคสนามร่วมด้วยและต่อมาคณะสัตวแพทยศาสตร์ก็ได้เข้าร่วมการฝึกภาคสนาม รวมเป็น 7 คณะวิชาในสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ เมื่อมีนักศึกษาเข้าร่วมมากขึ้นการจัดพื้นที่การฝึกภาคสนามจึงจำเป็นต้องจัดแบ่งพื้นที่ออกเป็นเขต จากเดิมที่เคยใช้พื้นที่หมู่บ้านเดียวกัน เนื่องจากบางปีมีนักศึกษาเข้าร่วมการฝึกภาคสนามร่วมมากกว่า 700 คนต่อมามีบางคณะวิชาปรับปรุงหลักสูตรจนทำให้ไม่มีรายวิชาบังคับให้นักศึกษาได้เรียนร่วมกับการฝึกภาคสนามร่วม ทำให้คณะที่เข้าร่วมการฝึกภาคสนามร่วมเหลือเพียงคณะแพทยศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ และคณะสัตวแพทยศาสตร์อย่างไรก็ตามด้วยการฝึกภาคสนามร่วม มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ดำเนินการต่อเนื่องเรื่อยมาตั้งแต่ พ.ศ. 2526 จนถึงปัจจุบัน นับเป็นปีที่ 33 (ปีการศึกษา 2558) นับเป็นโครงการจัดการเรียนการสอนที่มีความยาวนานและยั่งยืน จนถือเป็นแนวปฏิบัติที่ดี หรือ Best Practice อย่างหนึ่งของมหาวิทยาลัยขอนแก่นและสอดคล้องกับปรัชญาการจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัยขอนแก่น สภามหาวิทยาลัยและท่านอธิการบดี (รศ.ดร.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย) จึงมีนโยบายที่ต้องการส่งเสริมและสนับสนุนให้นักศึกษาที่ไม่มีรายวิชาบังคับ เข้ามาศึกษาร่วมกับการฝึกภาคสนามได้ เนื่องจากเห็นว่าการฝึกภาคสนามร่วมเป็นวิชาที่สำคัญในการฝึกฝนให้นักศึกษารู้จักและมีทักษะการใช้ชีวิต ซึ่งเป็นทักษะสำคัญประการหนึ่งในการเป็นบัณฑิตที่พึงประสงค์แห่งมหาวิทยาลัยขอนแก่น จนก่อเกิดรายวิชา 000158 วิถีชีวิตชุมชนและการเรียนรู้ชุมชน สังกัดสำนักวิชาศึกษาทั่วไป ในปีการศึกษา 2557 โดยมีนักศึกษาจากคณะเทคนิคการแพทย์ และคณะเภสัชศาสตร์ เข้าร่วมโครงการ นอกจากนี้ในปัจจุบันยังมีคณะพยาบาลศาสตร์ วิทยาลัยบัณฑิตเอเชีย เข้าร่วมการฝึกภาคสนามร่วมมหาวิทยาลัยขอนแก่นอีกสถาบันหนึ่งด้วย

การจัดการเรียนการสอนของการฝึกภาคสนามร่วม ประกอบด้วยการบรรยายด้านวิชาการและการฝึกปฏิบัติงานในพื้นที่ชุมชน เนื้อหาการบรรยายวิชาการเพื่อต้องการให้นักศึกษามีความรู้เกี่ยวกับเครื่องมือต่างๆที่จะใช้ในการศึกษาชุมชน เช่น การสร้างและใช้แบบสอบถาม การศึกษาวิถีชุมชน (ประวัติศาสตร์ชุมชน ปฏิทินชุมชน แผนที่เดินดิน ผังเครือญาติ ระบบสุขภาพ โครงสร้างองค์กรชุมชน) การศึกษาปัญหาสุขภาพและปัญหาเฉพาะเรื่อง การจัดท าโครงการและโครงการบริการ และกิจกรรมชุมชนสัมพันธ์ เป็นต้น ส่วนการฝึกปฏิบัติงานในพื้นที่ชุมชนนั้น นักศึกษาจะต้องเข้าไปอยู่ในพื้นที่เป็นเวลา 10 คืน 11 วัน โดยการขอความอนุเคราะห์บ้านพักจากตัวแทนชุมชนให้นักศึกษาได้พักอาศัย เนื่องจากการฝึกภาคสนามร่วมต้องการให้นักศึกษาทำงานร่วมกันในลักษณะทีมงานสุขภาพ ดังนั้นจึงจัดให้นักศึกษาจากทุกคณะกระจายกันอยู่ในทุกทีมย่อยหรือเรียกว่าบ้าน เช่น ใน 1 บ้านที่นักศึกษาไปอาศัยอยู่กับชุมชนจะมีนักศึกษาประมาณ 12 คน ซึ่งมาจากคณะวิชาที่แตกต่างกัน เพื่อส่งเสริมให้นักศึกษาสามารถปรับตัวและเรียนรู้การทำงานกับเพื่อนๆต่างสาขาวิชาชีพได้ โดยในบ้านนั้นๆจะมีอาจารย์ที่ปรึกษาประจำบ้าน เพื่อช่วยในการให้คำแนะนำทั้งด้านวิชาการและคำแนะนำการใช้ชีวิต ตลอดจนอาจารย์ที่ปรึกษาจะทำหน้าที่ในการเป็นผู้ประเมินผลการเรียนรู้ของนักศึกษา การฝึกภาคสนามร่วมในพื้นที่ชุมชนตลอด 10 คืน 11 วัน นอกจากนักศึกษาจะได้นำทฤษฎีและความรู้ด้านวิชาการที่ได้รับจากการเรียนในมหาวิทยาลัยไปปรับและประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมสอดคล้องกับวิถีชีวิต วิถีชุมชนที่เป็นความจริง ในระหว่างการปฏิบัติในพื้นที่แล้ว นักศึกษายังได้ฝึกทักษะการใช้ชีวิตในรูปแบบต่างๆ การเรียนรู้ขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมและความเป็นอยู่ของชุมชน ซึ่งไม่สามารถเรียนรู้หรือถ่ายทอดในห้องบรรยายหรือห้องปฏิบัติการในมหาวิทยาลัย ซึ่งทักษะชีวิตที่นักศึกษาได้รับนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อตัวนักศึกษาทั้งในปัจจุบันและอนาคต ดังนั้น การฝึกภาคสนามร่วม มหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงไม่ใช่การออกค่ายอาสาสมัครหากแต่เป็นการเรียนการสอนโดยใช้ชุมชนแทนห้องปฏิบัติการในมหาวิทยาลัย จึงเป็นการเรียนการสอนในลักษณะการเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติจริงโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน (Community-ฺBased Learning) และลักษณะงานที่ปฏิบัติสรุปได้คือ ร่วมใจทำงาน ประสานชุมชน ฝึกฝนค้นหา สรรมาบริการ โดยให้นักศึกษาได้เรียนรู้ด้วยตนเองผ่านการศึกษาชุมชน ภายใต้คำแนะนำและการให้คำปรึกษาจากคณาจารย์

ขอขอบคุณข้อมูลจาก: รศ.นพ.สมเดช พินิจสุนทร อาจารย์ผู้ร่วมปฏิบัติงานการฝึกภาคสนามร่วมตั้งแต่ครั้งที่ 7 จนถึงปีปัจจุบัน