เมื่อวันอาทิตย์ที่ 20 พฤศจิกายน 2565 การฝึกพื้นที่ลงภาคสนามครั้งที่ 3 นักศึกษาวิทยาศาสตร์สุขภาพจากมหาลัยขอนแก่น โครงการ 1 จำนวน 37 คน จากภาควิชา Community medicine เขต 6 ได้ดำเนินกิจกรรมโครงการบริการวิชาการ “หวาน ดัน ร้าย” ตั้งแต่เวลา 8.00 น. – 12.30 น. ณ ศาลาหอฉันท์ วัดโพธิ์ตาล บ้านแดง ตำบลบ้านเหล่า อำเภอบ้านฝาง จังหวัดขอนแก่น โดยกิจกรรมโครงการและการลงฝึกภาคสนามวันนี้ได้ดำเนินการตามที่วางแผนไว้
กิจกรรมโครงการบริการวิชาการ “หวาน ดัน ร้าย” มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ชาวบ้านมีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องของโรคความดันโลหิตสูงและโรคเบาหวาน ซึ่งเป็นสองโรคประจำตัวที่พบมากที่สุดในหมู่บ้านบ้านแดงแห่งนี้ โดยจะเน้นไปที่ความรู้ด้านอาหารการกินและยาที่ส่งผลทั้งด้านดีและร้ายต่อโรคสองโรคนี้ เพื่อให้ชาวบ้านได้ตระหนักและเห็นถึงความสำคัญในการปรับพฤติกรรมลดโรคความดันโลหิตสูงและเบาหวาน
กิจกรรมที่ 1: “อาหารต้านภัยเบาหวาน (DM diets)” เป็นกิจกรรมให้ความรู้เรื่องอาหารการกินของผู้ป่วยโรคเบาหวานว่าควรกินอย่างไรจึงจะสามารถลดระดับน้ำตาลในร่างกายลงได้ โดยได้มีการนำตัวอย่างอาหารที่ควรรับประทาน อาหารที่ไม่ควรรับประทาน รวมไปถึงสาธิตปริมาณน้ำตาลในอาหารแต่ละชนิด เพื่อให้ชาวบ้านเข้าใจว่าอาหารชนิดไหนควรหลีกเลี่ยงหรือควรรับประทานในปริมาณที่น้อยลง อีกทั้งยังมีกิจกรรมตอบคำถาม แจกรางวัลเพื่อให้ผู้ฟังได้มีส่วนร่วมกับกิจกกรรมอีกด้วย
กิจกรรมที่ 2: “ยาเบาหวานนี้ดี รู้ไว้ใช่ว่า (DM drugs)” กิจกรรมให้ความรู้เกี่ยวกับยารักษาโรคเบาหวานนั้นคือ ยาเมทฟอร์มินและยาไกลพิไซด์ วัตถุประสงค์เพื่อให้ชาวบ้านมีความเข้าใจในยาเบาหวานสองตัวนี้โดยเฉพาะคุณสมบัติของยาแต่ละชนิด อาการข้างเคียงต่างๆจากการได้รับยา ข้อควรระวังหากใช้ยา รวมไปถึงคำเตือนจากการใช้ยาแต่ละชนิด ปิดท้ายได้กิจกรรมตอบคำถามแจกของรางวัล
กิจกรรมที่ 3: กิจกรรมสันทนาการออกกำลังกายและพักทำธุระส่วนตัว หลังจากได้รับฟังบรรยายความรู้เรื่องเบาหวานแล้ว จึงได้มีการจัดกิจกรรมเพื่อผ่อนคลาย รวมไปถึงการปลูกฝังการออกกำลังกายให้กับผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้มีความสุขในการออกกำลังกาย ผ่านกิจกรรมเต้นแกว่งแขนประกอบจังหวะเพลง ก่อนที่จะเข้าสู่กิจกรรมต่อไป
กิจกรรมที่ 4: “อาหารต้านภัยความดันโลหิตสูง (HTN diets)” กิจกรรมให้ความรู้ด้านการปรับพฤติกรรมการกินเพื่อที่จะลดความดันโลหิตสูง ผ่านทาง dash diets โดยการแนะนำถึงสิ่งที่ควรรับประทานและสิ่งที่ไม่ควรรับประทานในหนึ่งวันเพื่อควบคุมโรคความดันโลหิตสูง รวมไปถึงความสำคัญของปริมาณโซเดียมในหนึ่งวันว่าควรรับประทานเท่าใดจึงไม่ส่งผลกระทบต่อโรคความดันโลหิตสูง สอนให้ชาวบ้านรู้จักการตวงปริมาณที่ควรได้รับต่อวัน ปิดท้ายด้วยกิจกรรมตอบคำถามเพื่อวัดความเข้าใจของผู้เข้าร่วมกิจกรรม
กิจกรรมที่ 5: “ยาความดันนี้ดี รู้ไว้ใช่ว่า (HTN drugs)” กิจกรรมให้ความรู้เกี่ยวกับยารักษาโรคความดันโลหิตสูง ในเรื่องของวิธีการรับประทาน อาการข้างเคียงที่อาจจะพบได้ รวมไปถึงข้อห้ามและข้อควรระวังในการใช้ยาแต่ละชนิด โดยยาที่ได้ให้ความรู้แก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้คือ Amlodipine, Losartan และ Enalapril ส่งท้ายด้วยกิจกรรมตอบคำถาม แจกรางวัล วัดความเข้าใจของผู้เข้าร่วมกิจกรรม