วันอังคารที่ 7 พฤศจิกายน 2566 เป็นการลงพื้นที่ครั้งที่ 3 ของเขต 10 เวลา 08.00 น. นักศึกษาพร้อมทั้งอาจารย์เขต 10 ได้ออกเดินทางจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นมุ่งสู่ชุมชนบ้านหนองบุญชูพัฒนา หมู่ที่ 17 ตำบลกู่ทอง อำเภอเชียงยืน จังหวัดมหาสารคาม เป้าหมายของวันนี้คือการทำโครงการ “ปรับปรุงป้องกันลดแพร่พันธุ์สัตว์พาหะ” กิจกรรมจะจัดขึ้นที่โรงเรียนบ้านหนองบุญชูโดยมีนักเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงประถมปลายเข้าร่วม
กิจกรรมช่วงเช้าจะเริ่มที่การคละกลุ่มเด็กนักเรียนชั้นต่างๆเพื่อให้มีเด็กหลากหลายวัยในกลุ่มเดียวกัน โดยน้องๆยืนเรียงกันตามชั้นเรียนทำให้การแบ่งกลุ่มเป็นไปอย่างรวดเร็ว
กิจกรรมแรกจะเป็นการทำท่าเลียนแบบสัตว์ในรูปภาพแล้วให้คนสุดท้ายในแถวทาย กลุ่มไหนทายได้ถูกต้องก็จะเป็นกลุ่มที่ชนะ โดยมีพี่ ๆ สาธิตให้น้อง ๆ ดูก่อนเริ่มกิจกรรม น้อง ๆ นั่งดูพี่ ๆ อธิบายกันอย่างตั้งใจ
น้อง ๆ กลุ่มนี้ได้รูปสัตว์ที่ต้องใบ้เป็นรูปปลา ทุกคนต่างลุ้นกันว่าจะสามารถใบ้ให้เพื่อนคนสุดท้ายทายถูกไหม น้อง ๆ ตั้งใจเล่นกันมากทำให้เพื่อนคนสุดท้ายในแถวทายสัตว์ในรูปภาพถูก
กิจกรรมถัดมาจะเป็นการให้ความรู้เกี่ยวกับสัตว์พาหะและโรคที่ก่อโดยสัตว์พาหะรวมถึงวิธีการป้องกัน ระหว่างที่ให้ความรู้จะมีการสุ่มตอบคำถามเพื่อลุ้นของรางวัล จากตอนแรกที่น้อง ๆ ไม่ค่อยสนใจทำให้น้อง ๆตั้งใจฟังและยกมือแย่งกันตอบคำถามกันอย่างกระตือรือร้น
กิจกรรมสุดท้ายในช่วงเช้าจะเป็นการวาดรูปสิ่งที่ได้เรียนรู้ทั้งหมดลงบนกระดาษแผ่นใหญ่ น้อง ๆ มีฝีมือและความคิดสร้างสรรค์กันมาก ๆ นอกจากนี้ยังมีการประเมินโดยการให้ทำ post-test วัดความรู้หลังจากการบรรยาย โดยน้อง ๆ ส่วนใหญ่สามารถตอบคำถามได้ถูกต้อง ซึ่งถือว่าพี่ ๆ ประสบความสำเร็จในการจัดกิจกรรมในครั้งนี้
ส่วนกิจกรรมช่วงบ่ายจะเริ่มเวลา 13:00 ซึ่งเป็นการเดินลงพื้นที่ในชุมชนบ้านหนองบุญชู หมู่ 17 โดยเราแบ่งนักศึกษาในโครงการเป็น 6 กลุ่ม ในแต่ละกลุ่มจะมีพื้นที่ให้รับผิดชอบ ให้ไปแจกแผ่นพับเกี่ยวกับ ปรับปรุง ป้องกัน ลดแพร่พันธุ์สัตว์พาหะ และ โรคติดต่อจากสัตว์สู่คน จำนวน 2 แผ่นพับต่อบ้าน และ ลูกเหม็นที่ห่อกระดาษสาเพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงกับลูกเหม็น
เมื่อไปถึงบ้านแต่หลังที่กำหนดไว้ก็จะอธิบายเนื้อหาในแผ่นพับให้ผู้สูงอายุในบ้านเข้าใจ จดบันทึกข้อมูล พร้อมทั้งปรับปรุงและสำรวจจุดเสี่ยงของแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์พาหะภายในบริเวณบ้าน
นอกจากนี้ระหว่างการเข้าไปแจกแผ่นพับ จะมีการขออนุญาตถ่ายภาพและสำรวจแหล่งน้ำขังที่อาจเป็นแหล่งน้ำที่เพาะพันธุ์ยุงลาย แล้วจึงเก็บข้อมูลลง google form จากนั้นนำข้อมูลที่ได้ไปคำนวณ ค่า House index (HI) ค่า Container index (CI) และ ค่า Breteau index (BI) เพื่อนำไปวิเคราะห์สรุปโครงการปรับปรุงชุมชนในขั้นตอนต่อไปได้
จบลงไปแล้วกับโครงการA ปรับปรุงป้องกันลดแพร่พันธุ์สัตว์พาหะ ด้วยความยากลำบาก แต่แฝงไปด้วยความสนุกสนานที่เพื่อนๆทุกคนได้ร่วมมือช่วยกันแก้ปัญหาสัตว์พาหะในชุมชนให้หมดไป รวมทั้งได้รับการตอบรับและช่วยเหลือจากชาวบ้านในชุมเป็นอย่างดี พวกเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการนี้จะช่วยแก้ปัญหาสัตว์พาหะให้แก่ชุมชนได้ไม่มากก็น้อย