สกู๊ปสั้นแอบลงจากเขต 12; โครงการสู่ชุมชนหนองแซง

จะพูดถึงโครงการฝึกภาคสนามร่วมฯ เราจะไม่พูดถึงโครงการจากนักศึกษาสู่ชุมชนไม่ได้ครับ โดยปกติแล้วโครงการในที่นี้จะทำขึ้นหลังจากลงพื้นที่ครั้งแรกและได้แลกเปลี่ยนความรู้ทั้งจากคนในและคนนอกชุมชน แล้วเอาสิ่งที่ได้มายำปน ๆ กันเป็นโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนและคนในท้องที่ แล้วโครงการเขต 12 ปีนี้มีอะไร ตามอ่านกันได้เลยครับ

โครงการที่ 1 จะพูดถึงโรคไม่ติดต่อเรื้อรังทั่วไปที่พบได้ในทั้งไทยและเทศ ซึ่งก็คือเบาหวาน ความดัน และโรคหลอดเลือดหัวใจที่ตีบหรือตัน

โดยการส่งต่อข้อมูลจะเป็นไปใน 2 รูปแบบคือ แผ่นพับสำหรับทั้ง 3 โรคและวิดีโอแนะนำโรคที่ฉายใน รพ.สต ซึ่งที่ผ่านมาได้เริ่มทำงานอย่างรีบรุดตั้งแต่หลังลงพื้นที่ครั้งแรก จนได้มาถึงวันแจกจ่ายงานสู่ชุมชนเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

เรามาฟังความรู้สึกของตัวแทนเพื่อน ๆ ที่ทำโครงการนี้กันดีกว่าครับ

“โครงการนี้เป็นการทำสื่อแล้วก็ให้คนในชุมชนที่นี่ ที่ รพ.สต. หนองแซง วัตถุประสงค์ก็เพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้รู้และเข้าใจสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของโรคเรื้อรังทั้ง 3 โรค (ความดัน เบาหวาน หลอดเลือดหัวใจ) อันที่สองก็คือ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการสามารถเข้าใจอาการเบื้องต้น อาการแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นได้จาก 3 โรคที่ว่านี้ แล้วก็อันสุดท้าย ก็ทราบถึงวิธีการดูแลเบื้องต้น การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเมื่อป่วย 3 โรคนี้ …”

แล้วรู้สึกอย่างไรกับการทำโครงการนี้ครับ? (จ่อไมค์) 

“…เอาความจริงเลยไหม ช่วงแรกๆ งานก็จะหนักนิดนึง เพราะเป็นงานออนไลน์ แล้วก็จะมีแค่เอกสาร แต่พอลงพื้นที่ก็รู้สึกว่า เออ งานน่ะมันมีประโยชน์ มีคุณค่านะ หลังจากลงพื้นที่รู้สึกว่าคุ้มกับการที่ทุ่มเทตรงนี้ และต้องทุ่มเทมากกว่าตอนที่ทำแบบออนไลน์ครับ” 

อยากฝากอะไรถึงเพื่อนที่ทำโครงการด้วยกันหรือเปล่าครับ? 

“…บอกเลยว่าขอบคุณมากๆครับ ถ้าขาดเพื่อนๆทุกคนไปก็คงจะเหนื่อยเพราะงานมันหนักมาก ขอบคุณเพื่อนๆที่แบ่งเบาภาระครับ”

  • ธนวัฒน์ คงเจริญ, ตัวแทนนักศึกษาคณะแพทยศาสตร์และหัวหน้าโครงการ 1
ธนวัฒน์ คงเจริญ, ตัวแทนนักศึกษาคณะแพทยศาสตร์และหัวหน้าโครงการ 1

มาที่โครงการที่ 2 ซึ่งจะกล่าวถึงโรคที่ระบาดอยู่ทุกวันนี้; โรคติดเชื้อโคโรนาไวรัส 2019 หรือ COVID-19 ซึ่งโครงการที่ 2 นี้จะมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอาการที่พบ สาเหตุที่ติด และวัคซีนที่มีฉีดในประเทศไทย

โดยโครงการนี้จะมีการถ่ายทอดข้อมูลอยู่ 4 รูปแบบคือ โปสเตอร์ในสถานที่ที่คนพลุกพล่าน, แผ่นพับที่ตามแจกถึงบ้าน, ไฟล์เสียงตามสายที่กระจายเสียงจากผู้ใหญ่บ้าน และป้ายไวนิลที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพชุมชน

ในส่วนของโครงการมีการดำเนินงานมาตั้งแต่หลังการลงพื้นที่ครั้งแรก และได้มีการปรึกษาอาจารย์อย่างต่อเนื่อง จากนั้นจึงได้ฤกษ์ได้เรื่องมาทำโครงการที่ชุมชนเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายนที่ผ่านมา พร้อม ๆ กับโครงการที่ 1

ถึงแม้จะมีปัญหาทางเทคนิคเกิดขึ้นบ้าง แต่ทางทีมงาน, อาจารย์, และชาวบ้านได้ร่วมแรงร่วมใจกันแก้ไขให้ลุล่วงด้วยดี

ทีนี้เรามาฟังเสียงของตัวแทนทีมงานโครงการสองกันดีกว่าครับ

“โครงการนี้จริงๆแล้วมีชื่อว่า เสียงตามสายห่างไหลโควิด โดยเป็นการให้ความรู้แก่คนในพื้นที่เกี่ยวกับ COVID-19 อีกทั้งยังให้ความรู้เกี่ยวกับวัคซีนและการตรวจ ATK ซึ่งวันนี้ส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยมีคนอยู่บ้าน การเก็บข้อมูลก็เลยมีความยากลำบาก คนที่อยู่บ้านก็จะเป็นพวกผู้สูงอายุ ทำให้ความรู้เรื่องวัคซีนและ ATK มันทำได้ยาก เพราะเขาไม่ค่อยมีความรู้ตรงนี้เท่าไหร่ แต่ว่าโครงการนี้ก็ผ่านไปได้ด้วยดี ชาวบ้านก็ให้ความร่วมมือดีครับ…”

สิ่งที่ประทับใจในโครงการนี้คืออะไรครับ? (ยื่นไมค์)

“ความน่ารักของชาวบ้านนี่แหละครับ”

แล้วจะฝากอะไรถึงเพื่อนที่ทำโครงการด้วยกันหรือเปล่าครับ?

“ …ก็ขอบใจทุกคนมาก ที่ทำให้โครงการดำเนินไปได้ด้วยดี เวลามีปัญหาและอุปสรรค ก็ติดต่อเพื่อนและสามารถแก้ปัญหาด้วยกันได้ แล้วทุกคนก็มีหน้าที่ของตัวเอง รู้หน้าที่ของตัวเองดี ก็ขอบคุณครับ”

  • ศุภกิจ เจียมวุฒินันท์, ตัวแทนนักศึกษาคณะแพทยศาสตร์และหัวหน้าโครงการ 2
ศุภกิจ เจียมวุฒินันท์, ตัวแทนนักศึกษาคณะแพทยศาสตร์และหัวหน้าโครงการ 2

สำหรับโครงการทั้ง 2 นี้ได้มีการเก็บข้อมูลหลังทำโครงการในวันที่ 3 ธันวาคม 2564 และมีการคืนความรู้สู่ชุมชนด้วยในวันที่ 6 ธันวาคมที่จะถึงนี้ นอกเหนือจากนี้ยังสามารถติดตามดูสกู๊ปข่าวการลงพื้นที่ที่ 4 ครั้งของนักศึกษาเขต 12 ได้ในข่าวเขต 12 เลยครับ

ภาพเเละเขียน : ฝ่ายข้อมูลสารสนเทศ เขต 12 การฝึกภาคสนามร่วมฯ ครั้งที่ 39