📍โครงการ 2 ร่วมแรงร่วมใจจัดกิจกรรม “ บ้านโจดร่วมใจต้านภัยหกล้ม ” ณ วัดโพธิ์ชัย บ้านโจด ต.กู่ทอง อ.เชียงยืน จ.มหาสารคาม เฮ้! 👏 🎉

วันที่ 6 พฤศจิกายน 2566 เวลา 8:30 – 11:00 น. โครงการจัดทำโดยคณาจารย์ และนักศึกษา 7 คณะสายสุขภาพ ได้แก่ นักศึกษาแพทย์ นักศึกษาทันตแพทย์ นักศึกษาสัตวแพทย์ นักศึกษาเภสัชศาสตร์  นักศึกษาเทคนิคการแพทย์ สาขากายภาพบำบัด และนักศึกษาเทคนิคการแพทย์ สาขาเทคนิคการแพทย์ จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น และนักศึกษาพยาบาล วิทยาลัยบัณฑิตเอเชีย ลงพื้นที่จัดกิจกรรมโครงการ “ บ้านโจดร่วมใจต้านภัยหกล้ม ”

หลักการและเหตุผลของโครงการบริการวิชาการ  “ บ้านโจดร่วมใจต้านภัยหกล้ม ”
เนื่องจากในปัจจุบันประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่กำลังจะมีแนวโน้มประสบปัญหาสังคมผู้สูงอายุ ดังนั้นทางคณะผู้จัดทำจึงได้เล็งเห็นที่จะต้องจัดตั้งโครงการเพื่อการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุหกล้มในผู้สูงอายุ โดยเฉพาะยิ่งถ้าหากมีโรคประจำตัวร่วมด้วยอีก เช่น ความดันโลหิตสูง หรือเบาหวาน การหกล้มนั้นอาจส่งผลให้กลายเป็นผู้ป่วยติดเตียง หรือเสียชีวิตได้เลยทีเดียว จึงได้จัดทำโครงการนี้ขึ้นมาโดยหวังว่าจะช่วยให้ผู้สูงอายุเล็งเห็นความอันตรายจากการหกล้มและตระหนักถึงการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุจากการหกล้มได้

กิจกรรมโครงการบริการวิชาการ “ บ้านโจดร่วมใจต้านภัยหกล้ม ” มีวัตถุประสงค์ ดังนี้
1. เพื่อให้ผู้สูงอายุได้ตระหนักถึงการเสื่อมสภาพของร่างกายตามวัย
2. เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถออกกำลังกายได้ด้วยตัวเอง
3. เพื่อให้ผู้สูงอายุตระหนักถึงความสำคัญของการออกกำลังกาย
4. เพื่อให้คนในชุมชนได้ทำกิจกรรมร่วมกัน

กิจกรรมที่ 1 ละครสั้นสะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นเมื่อหกล้ม ในชื่อเรื่อง “อย่าให้สูงวัยล้ม เดี๋ยวไม่ลุก!”

กิจกรรมที่ 2 การอบอุ่นร่างกาย (warm up) ก่อนออกกำลังกายจริง

กิจกรรมที่ 3 ท่าออกกำลังกายเสริมสร้างกล้ามเนื้อส่วนต้นขา และสะโพกให้แข็งแรงเพื่อป้องกันการหกล้มขณะเปลี่ยนอริยาบทจากท่านั่งเป็นท่ายืน

กิจกรรมที่ 4 การยืดเหยียดกล้ามเนื้อ หลังออกกำลังกาย (cool down)

กิจกรรมที่ 5 การเต้นบาสโลบ เสริมสร้างการทำงานประสานกันระหว่างระบบประสาท ระบบกล้ามกล้ามเนื้อ และสายตาการมองเห็น

กิจกรรมที่ 6 เป็นการแจกรางวัลพิเศษต่าง ๆ เป็นของสมนาคุณชาวบ้านที่มาร่วมงาน พร้อมกับให้ความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการรับประทานโปรตีนให้ถึงปริมาณในแต่ละวัน เพื่อซ่อมแซมร่างกายส่วนที่สึกหรอ

  • ประเมินความพึงพอใจต่อโครงการ เเบ่งระดับความพอใจในแบบประเมินเป็น 5 ระดับ
  • ประเมินระดับความเห็นด้วยต่อการจัดกิจกรรมว่ามีประโยชน์ต่อชุมชนและสมาชิกที่เข้าร่วมโครงการ รวมถึงรูปแบบการจัดกิจกรรมว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ 5 ระดับ
  • ประเมินความรู้โครงการ Pre-test และ Post-test จำนวน 10 ข้อ คำถามใช่/ไม่ใช่